วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555


ต้นกำเนิดของอินเตอร์เน็ต
- จุดกำเนิดของอินเตอร์เน็ตเริ่มในทศวรรษที่ 1960 ในสมัยนั้นมีการใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรม (mainframe) อย่างแพร่หลาย ส่วนคอมพิวเตอร์แบบพีซียังไม่มี ความคิดที่พยายามทำให้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมทั้งหลายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ทั้งระยะใกล้และระยะไกลนั้นเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น และเนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตด้วย ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐจึงเห็นว่าการติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างคอมพิวเตอร์ถือได้ว่ามีประโยชน์ด้านทหาร
- เพื่อให้ความคิดนี้เป็นจริง ดังนั้นในปี ค.ศ 1968 หน่วยงานที่ชื่ออาร์พา (Advance Research Project Agency , ARPA ) ของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (U.S Department of Defense, DOD) จึงมีโครงการที่จะทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ในช่วงแรกทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากสี่สถานที่ด้วยกันคือ
  • สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (SRI International)
  • มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส (University of California, Los Angeles(UCLA))
  • มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานตาบาร์บารา(University of California, Santa Barbara(UCSB))
  • มหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah)
           การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากสี่สถานที่เป็นการเชื่อมต่อในลักษณะเป็นเน็ตเวิร์ก เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อในระยะไกล จึงเป็น WAN (Wide area network) เน็ตเวิร์กที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้มีชื่อว่า อาร์พาเน็ต (ARPANET) และอาร์พาเน็ตเป็นจุดเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ตในเวลาต่อมา การติดต่อสื่อสารที่นิยมใช้กันในช่วงนั้นของอาร์พาเน็ตคือ จดหมายอิเล็กทรอนิกหรืออีเมล์ การสนทนาแบบออนไลน์ และ การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ จุดเด่นประการหนึ่งของอาร์พาเน็ตคือ เป็นเน็ตเวิร์กแบบไม่มีศูนย์กลาง หรือเป็นเน็ตเวิร์กแบบกระจาย เน็ตเวิร์กแบบมีศูนย์กลางนั้นเมื่อไรก็ตามที่ศูนย์กลางเกิดเสียหรือถูกทำลายจะทำให้ทั้งเน็ตเวิร์กทำงานไม่ได้ ส่วนเน็ตเวิร์กที่ไม่มีศูนย์กลางนั้นถ้าส่วนใดส่วนเกิดเสียขึ้นมา ส่วนที่เหลือยังคงสามารถทำงานต่อได้คือสามารถติดต่อสื่อสารกันได้
โปรโตคอล TCP/IP
ภายในเวลาไม่นานนักหน่วยงานอื่นๆได้เริ่มเห็นคุณประโยชน์ของการติดต่อสื่อสาร แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอาร์พาเน็ต ดังนั้นหน่วยงานเหล่านั้นจึงต้องการนำเอาบรรดา คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานตนมาเชื่อมต่อกับอาร์พาเน็ต
การที่คอมพิวเตอร์จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้นั้นต้องใช้กฏเกณท์ด้านการสื่อสารเดียวกัน กฏเกณท์ด้านการสื่อสารในภาษาอังกฤษเรียกว่าโปรโตคอล (Protocol)เงื่อนไขนี้ทำให้เกิดปัญหา ในการเชื่อมต่อ ทั้งนี้เพราะว่าคอมพิวเตอร์ที่ผลิตจากแต่ละบริษัทต่างก็ใช้โปรโตคอลของตนเอง เช่น คอมพิวเตอร์ที่ผลิตโดยไอบีเอ็มก็ใช้โปรโตคอลของไอบีเอ็ม และเมื่อนำคอมพิวเตอร์นั้นไปเชื่อมต่อเข้ากับอาร์พาเน็ต ก็ย่อมไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ทั้งหลายในอาร์พาเน็ตได้ ทั้งนี้ เพราะว่าอาร์พาเน็ตก็ใช้โปรโตคอลของตนเองไม่ได้ใช้โปรโตคอลของไอบีเอ็ม
เพื่อให้การนำเอาคอมพิวเตอร์จากหน่วยงานอื่นมาเชื่อมต่อได้สดวก อาร์พาเน็ตต้องเปลี่ยนมาใช้โปรโตคอลที่สดวกต่อการเชื่อมต่อ และเป็นโปรโตคอลที่ไม่ได้เป็นของบริษัทหนึ่งบริษัทใดโดยเฉพาะ พร้อมทั้งข้อมูลทางด้านเทคนิคของโปรโตคอลนั้นเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะและ เป็นโปรโตคอลที่บริษัทและหน่วยงานส่วนใหญ่ยอมรับ โปรโตคอลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้คือ TCP/IP วินตัน เซิร์ฟ(Vinton Cerf) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และโรเบิร์ต คาห์น (Robert Kahn) จาก BBN เป็นผู้พัฒนาโปรโตคอล TCP/IP อาร์พาเน็ตได้เปลี่ยนมาใช้โปรโตคอล TCP/IP ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ผลก็คือทำให้หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จากหน่วยงานอื่นที่มาเชื่อมต่อเข้าอาร์พาเน็ตทำได้สดวกขึ้น กล่าวคือถ้าต้องการเชื่อมต่อกับอาร์พาเน็ตก็ปรับให้คอมพิวเตอร์สามารถใช้โปรโตคอล TCP/IP ได้ จำนวนคอมพิวเตอร์ที่มาเชื่อมต่อเข้ากับอาร์พาเน็ตได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆอย่างรวดเร็ว
Internet เน็ตเวิร์กของเน็ตเวิร์ก
ในทศวรรษที่ 1980 อาร์พาเน็ตได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นอีก คือ ได้มีบรรดาเน็ตเวิร์กอื่น ๆเป็นจำนวนมากได้มาเชื่อมต่อกับอาร์พาเน็ต ในตอนนี้กล่าวได้ว่าอาร์พาเน็ตประกอบขึ้นด้วยเน็ตเวิร์ก เป็นจำนวนมากมิได้มีเพียงเน็ตเวิร์กเดียว(ในตอนเริ่มต้น) เน็ตเวิร์กทั้งหลายในอาร์พาเน็ตพอจำแนกออกได้ดังนี้ 
  • ARPANET
  • MILNET เน็ตเวิร์กด้านทหาร
  • NSFNET (National Science Foundation network)
  • OTHER NETS เน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่น Bitnet Usenet
สิ่งที่เกิดขึ้นกล่าวได้ว่าเป็นเน็ตเวิร์กของเน็ตเวิร์กโดยมีอาร์พาเน็ตเป็นเน็ตเวิร์กหนึ่งในนั้น ดังนั้นเพื่อให้สื่อความหมายจึ่งได้เปลี่ยนจากการใช้ชื่ออาร์พาเน็ตมาเป็นใช้ชื่ออินเตอร์เน็ต (Internet) แทนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 และในช่วงเดียวกันนั้นกระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้ตัดสินใจแยก MILNET เน็ตเวิร์กด้านทหารออกจากอินเตอร์เน็ต